วิวัฒนาการทางความคิดและหลักการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
สินทรัพย์ดิจิทัล มีทฤษฎีและหลักคิดในการลงทุนที่หลากหลายและน่าสนใจไม่แพ้กัน ถึงแม้จะเกิดขึ้นมาได้แค่หนึ่งทศวรรษก็ตาม
การลงทุนอยู่กับเรามาหลายพันปี ไม่ว่าจะเป็นหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ อนุพันธ์ทางการเงิน หรือแม้แต่ศิลปะ สินทรัพย์ทุกประเภทมักจะมีหลักคิดและหมวดการลงทุนที่เป็นระบบ มีทฤษฎีประกอบ วัดค่าได้ด้วยข้อมูล และมีวิวัฒนาการตามการเวลา ไม่ต่างจากการตีมูลค่าหุ้นด้วย P/E Ratio หรือการคำนวณราคา Options ด้วยสมการ Black-Scholes
บทความนี้ผมจะเขียนเกี่ยวกับหลักคิดและข้อถกเถียงที่เป็นประเด็นสำคัญในหมู่นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจบริบทและพัฒนาการของกระบวนการวิเคราะห์และหลักการการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แม้แต่ในโรงเรียนหรือตำรายังไม่มีการสอนกัน
Bitcoin Maximalism vs. Blockchain Proliferation
ตั้งแต่มีการสร้างบิทคอยน์แรกขึ้นในปี 2009 เราได้เห็นชุมชนออนไลน์เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนบิทคอยน์ในยุคแรก ซึ่งในขณะนั้น บิทคอยน์ถือเป็นเรื่องใหม่ และกลุ่มคนที่เข้ามาขุดและซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนี้มีชื่อว่า cypherpunk หรือกลุ่มคนที่ชื่นชอบในศาสตร์การเข้ารหัส (cryptography) และรณรงค์ให้มีการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวและลดอำนาจรัฐ โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีอุดมการณ์อิสรนิยม (libertarian)
บิทคอยน์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปี ทั้งเจอรัฐบาลโจมตีบ้าง เจอการแข่งขันจากเหรียญอื่นบ้าง จนไปถึงการแฮกศูนย์ซื้อขายยักษ์ใหญ่ และความผันผวนของราคาบิทคอยน์ที่ร่วงหนักถึง 90% จากยอด คนกลุ่มนี้มีสิ่งเดียวที่เหมือนกัน คือเห็นถึงความยืนยงของบิทคอยน์ ที่ไม่ว่าจะเจออะไร ก็ไม่มีใครสามารถหยุดมันได้
Bitcoin 4.0
คนกลุ่มนี้จึงลงทุนในบิทคอยน์เท่านั้น เพราะเห็นสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นอีกนับไม่ถ้วนหมดค่าไป จึงชอบทยอยนำเงินสดไปซื้อบิทคอยน์อย่างสม่ำเสมอ หรือการทำ Dollar Cost Averaging (DCA) นั่นเอง ความศรัทธาอันแรงกล้านี้จึงก่อให้เกิดลัทธิ Bitcoin Maximalism ขึ้น
บิทคอยน์ครองตลาดอยู่นาน และเลือกที่จะเป็นแค่หน่วยมูลค่าดิจิทัล จึงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานบล็อกเชนในอุตสาหกรรมอื่นได้ นักพัฒนาซอฟต์แวร์บางกลุ่มเลยแยกตัวออกมาสร้างบล็อกเชนใหม่ที่ได้รับการตอบรับดีอย่างอีเธอเรียม (Ethereum) ขึ้นมา ในปี 2017 ได้เกิดการระดมทุนผ่านการออกโทเคนดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่า Initial Coin Offering (ICO) และปัจจุบันมีผู้ใช้งานสัญญาอัจฉริยะบนอีเธอเรียมอย่างล้นหลาม
อ้างอิงข้อมูลจาก Messari และ CoinMetrics การชำระมูลค่าสินทรัพย์บนอีเธอเรียมได้แซงหน้าบิทคอยน์ไปแล้วในเดือนกรกฎาคมปี 2020 โดยการชำระมูลค่าต่อวันบนอีเธอเรียมอยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และของบิทคอยน์อยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Bitcoin Maximalist ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี อีเธอเรียมยังเป็นระบบใหม่ และยังมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไขก่อนที่จะสามารถทำตัวเป็นคอมพิวเตอร์สาธารณะให้กับโลกได้ เช่น เรื่องการเพิ่มศักยภาพในการประมวลผล (scalability) ความเร็วในการทำธุรกรรม (speed) หรือแม้กระทั่งระบบรักษาความเป็นส่วนตัว (privacy)
การสร้างบล็อกเชนใหม่เพื่อรองรับธุรกรรมผ่านสัญญาอัจฉริยะทำให้เกิดการแข่งขันสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้น ซึ่งในวงการเรียกว่า Layer 1 Infrastructure และนอกจากอีเธอเรียมแล้ว ยังมีคู่แข่งขันที่ได้รับเงินทุนจากนักลงทุนมากมายหลายสิบบริษัท วันนี้เราได้เห็นการแข่งขันแย่งชิงความเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มสัญญาอัจฉริยะ และผู้ท้าชิงอย่าง Cardano EOS และ Tezos ล้วนมีมูลค่าทางตลาดสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งสิ้น ในอนาคตเราอาจได้เห็นโลกที่มีหลายบล็อกเชนทำงานร่วมกันอย่างกลมเกลียวข้ามอุตสาหกรรม โดยแต่ละบล็อกเชนสามารถดึงจุดแข็งของตัวเองเพื่อตอบโจทย์เฉพาะทางของอุตสาหกรรมนั้น ๆ
Fat Protocol vs. Fat Applications
ในเดือนสิงหาคม ปี 2016 บริษัท Venture Capital (VC) ชื่อดัง Union Square Ventures แห่งสหรัฐอเมริกาได้เขียนบทความชื่อ Fat Protocols โดยนาย Joel Monegro ได้กล่าวว่าในยุคอินเทอร์เน็ต เราใช้มาตรฐานการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ (โพรโทคอล) หลายประเภท เช่น (1) HTTP ในการร้องขอและการตอบรับข้อมูลระหว่างเครื่องลูกข่ายและเครื่องแม่ข่าย (2) SMTP ในการส่งอีเมลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และ (3) TCP/IP ในการควบคุมการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์บนอินเทอร์เน็ต
ในขณะที่โพรโทคอลเหล่านี้เป็นรากฐานให้กับอินเทอร์เน็ต ก็เริ่มมีแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่าง Google Facebook Amazon Apple Netflix และอื่น ๆ อีกมากมายที่คนทั้งโลกสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ และบริษัทที่สร้างแอปพลิเคชันเหล่านี้ มีมูลค่าทางตลาดหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ
กล่าวคือแอปพลิเคชันสามารถใช้โพรโทคอลอย่างเสรีในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัท นักลงทุนจึงควรลงทุนในหุ้นบริษัทที่สร้างแอปพลิเคชันเหล่านี้แทนที่จะลงทุนในบริษัทหรือองค์กรที่สร้างโพรโทคอลสาธารณะ
การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรหาข้อมูลเพิ่มเติม